เทศบาลตำบลหนองใหญ่

Nongyai Subdistrict Municipality

จับตาโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนให้พวกเราเฝ้าระวังและป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จากกรณีที่สหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่มจาก 4 คน รวมเป็น 7 คนในช่วงที่ผ่านมานั้น โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่


ออนไลน์ : 7

หัวข้อ :: จับตาโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนให้พวกเราเฝ้าระวังและป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จากกรณีที่สหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่มจาก 4 คน รวมเป็น 7 คนในช่วงที่ผ่านมานั้น โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่

ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนให้พวกเราเฝ้าระวังและป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จากกรณีที่สหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่มจาก 4 คน รวมเป็น 7 คนในช่วงที่ผ่านมานั้น โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ เพราะเคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน แต่ก็มีการพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร โดยมักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศ หรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ
โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox virus เป็น double-stranded DNA virus เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ โดยมีระยะฟักตัวก่อนแสดงอาการประมาณ 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่พบแสดงอาการในช่วง 10-14 วัน
การติดเชื้อสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
  1. จากสัตว์สู่คน: เกิดจากการสัมผัสโดยตรงจากเลือด สารคัดหลั่งหรือตุ่มหนองของสัตว์ ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน รวมถึงการประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่าที่ติดเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ
  2. จากคนสู่คน: การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งหรือตุ่มหนอง การติดต่อจากทางเดินหายใจโดยผ่านทางละอองจากการไอหรือจาม
อาการของผู้ติดเชื้อ
  1. อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หลังจากนั้น 1-3 วัน จะเริ่มมีผื่นขึ้นที่หน้า ลำตัว แล้วลามออกไปที่แขนขา โดยผื่นจะเห็นเด่นชัดมากที่บริเวณหน้า และแขน ขา ซึ่งอาการดังกล่าวจะอยู่ราวๆ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
  2. ลักษณะผื่นแบ่งตามระยะดังนี้ เริ่มจาก ผื่นนูนแดง (Maculopapular) ตุ่มน้ำใส(Vesicles) ตุ่มหนอง (Pustules) ตุ่มหนองบุ๋มตรงกลาง (Umbilicated Pustules) สะเก็ด (Crusted) และแผลลอก
วิธีการป้องกันการติดเชื้อ
  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด ตุ่มหนอง หรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัตว์ป่า หรือจากผู้ที่สงสัยว่าป่วยหรือมีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ โดยแยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก เป็นต้น
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ สร้างจาก Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic (MVA-BN) สำหรับป้องกัน Orthopoxvirus สามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้ทรพิษ และโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ถึง 85%
 
วันที่ : 1 มิถุนายน 2565   View : 580